เรื่องมหัศจรรย์เหนือการพิสูจน์ : เสียงร้องไห้ในความฝัน - เรื่องมหัศจรรย์เหนือการพิสูจน์ : เสียงร้องไห้ในความฝัน นิยาย เรื่องมหัศจรรย์เหนือการพิสูจน์ : เสียงร้องไห้ในความฝัน : Dek-D.com - Writer

    เรื่องมหัศจรรย์เหนือการพิสูจน์ : เสียงร้องไห้ในความฝัน

    นายแพทย์ เจค็อบ โรเซนธัล (นามสมมติ) เป็นนายแพทย์ประจำอยู่ที่เมืองบรอนซ์, นิวยอร์ก ถึงแม้จะมีคนไข้มากมาย แต่นายแพทย์ผู้นี้ก็มิได้รํ่ารวยมากนัก เพราะอะไร เชิญท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองเถอะค่ะ

    ผู้เข้าชมรวม

    2,317

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    2.31K

    ความคิดเห็น


    20

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  28 พ.ค. 49 / 20:52 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ


      "ผมไม่ทราบเลยว่า อลิซาเบธเธอต้องการอะไรจากผม"

      คุณหมอวัยกลางคนบอกเล่าแก่ซูซี่ สมิธ ผู้เขียนเรื่องนี้

      "แต่ว่าเมื่อ 2-3 ปีมาแล้วนี้ ผมได้ยินเสียงเธอร้องไห้ในความฝันทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลานานเกือบปี จนทำให้ผมนอนไม่หลับ และสุขภาพเริ่มเสื่อมลง"

      คุณหมอเล่าต่อไปว่า ภริยาของเขาสงสัยว่าเหตุใดสามีจึงนอนไม่หลับเอามากมายเช่นนั้น ครั้งแรกนายแพทย์ก็เฉยเสีย ไม่เล่าอะไรให้ฟัง คิดว่าเป็นเรื่องของความฝันชั่วครู่ชั่วคราว ไม่นานก็คงเลิกฝันไปเอง


      ...แต่มันไม่เป็นยังงั้นน่ะซีครับ

      "ผมฝันติดต่อกันมาทุกคืน ตอนแรกๆได้ยินเฉพาะเสียงร้องไห้กระซิกๆก่อน ครั้นผมไม่ค่อยสนใจ คราวนี้ชักเห็นเป็นตัวตนครับ...ผมเห็นเงาเลือนๆเป็นรูปร่างผู้หญิงร่างสูง ที่มีท่าทางสง่างามสะดุดตา ผมจึงจำได้ว่า นั่นเป็นลักษณะของ อลิซาเบธ ลาเกอร์เฟลด์ เพื่อนคนหนึ่งของผมนั่นเอง"

      คุณหมอบอกว่า ที่จำได้ว่าเป็นรูปร่างของเพื่อนเก่า เพราะในความฝันนั้นไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของรูปร่างเลย แต่ทรวดทรงสูงระหงมีสง่าผ่าเผยนั้นไม่เหมือนใคร และเป็นจุดเด่นที่อลิซา-เบธ ลาเกอร์เฟลด์ แตกต่างกับคนอื่นอย่างชัดเจน


      แต่ทำไมเธอจึงมาร้องไห้ในความฝันของเขาด้วยเล่า ?

      อลิซาเบธและโจฮันผู้สามี ต่างก็เป็นคนไข้ของคุณหมอด้วยกันมาเป็นเวลานาน จนสนิทสนมกลายเป็นเพื่อนของคุณหมอไป ทั้งสองมีฐานะค่อนข้างขัดสนสักหน่อย เพราะโจฮัน ลาเกอร์เฟลด์ ลาออกจากงาน เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ เมื่อเขาตายลงในปี 1942 อลิซาเบธก็ครองชีวิตต่อมาด้วยความยากลำบากพอควร ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปรักษาพยาบาลกับคุณหมอโรเซนธัล ซึ่งไม่คิดค่ารักษาแต่อย่างใด หากอลิซาเบธ ผู้มีความหยิ่งในตัว ไม่ยอมให้รักษาฟรี คุณหมอจึงจำต้องคิดเงินครั้งละ 2 เหรียญ โดยไม่คิดค่ายาเลย ทำให้อลิซาเบธซาบซึ้งในความกรุณาของนายแพทย์เป็นอย่างยิ่ง

      อันที่จริง นิสัยของนายแพทย์เจค็อบ โร-เซนธัล เป็นอย่างนั้นเอง เขาเป็นคนโอบอ้อมอารีเห็นใจคนยากจนเป็นที่สุด และรักษาฟรีสำหรับคนไม่มีเงินเสมอ นี่แหละครับ เป็นเหตุผลที่ทำให้ฐานะของเขาไม่มั่งคั่งรํ่ารวยมากอย่างนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงคนอื่น ทว่า การรักษาของเขาก็ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้า เขาเป็นคนทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และถือว่าโรคร้ายนั้นเป็นศัตรูที่จะต้องเอาชนะให้ได้ทีเดียว


      สำหรับอลิซาเบธ ลาเกอร์เฟลด์ นั้น เธอเป็นคนเคร่งศาสนา และมีความเชื่อมั่นในวิญญาณและโลกหน้าอย่างมั่นคง อลิซาเบธเชื่อแน่ว่า ในเวลาที่เธอตายไป วิญญาณจะต้องไปอยู่ร่วมกับสามีอย่างมีความสุข ดังนั้น จึงลงทุนทำเป็นพินัยกรรมไว้ว่า หากเธอตายลง ก็ขอให้นำศพไปฝังไว้เคียงข้างหลุมศพสามีในสุสานวู้ดลอนด้วย


      เมื่ออลิซาเบธล้มป่วยอีกครั้ง เธอมีอายุได้ 88 ปี เพื่อนบ้านพาส่งโรงพยาบาลมอริสซาเนีย เมื่อหายจากโรคร้ายแล้ว ปรากฏว่าเธอไม่สามารถดูแลตนเองได้ ดังนั้น สภาสังคมสงเคราะห์แห่งนิวยอร์ก จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ นำไปพักอยู่ที่สถานดูแลคนชราที่บรอนซ์ และ ณ ที่นี้เอง อลิซาเบธก็สิ้นชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1959


      ในระยะที่อลิซาเบธเข้าโรงพยาบาลมอริสซาเนียนั้น คุณหมอโรเซนธัลไม่ได้ติดต่อกับเธออีกเลย มารู้ข่าวคราวเอาต่อเมื่อเพื่อนสนิทของเธอคนหนึ่งชื่อ เบลล์ รอมเซน เล่าให้ฟังในตอนหลัง

      "อลิซาเบธฝากซองสีนํ้าตาลไว้ที่ฉันด้วยค่ะ" เบลล์เล่าให้นายแพทย์ฟัง "ในนั้นเขียนไว้แจ่มแจ้งว่า ขอให้ฝังศพเธอเคียงข้างหลุมศพสามีในสุสานวู้ดลอน และเธอมีกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นค่าทำศพแนบมาด้วย ฉันก็เลยส่งเรื่องทั้งหมดของเธอให้สภาสังคมสงเคราะห์เขาจัดการ เพราะฉันต้องรีบไปอยู่กับลูกสาวที่โอไฮโอ แต่ก็รู้ว่าเขาจัดการฝังศพเธอเรียบร้อยแล้ว"

      นายแพทย์โรเซนธัลเสียใจในข่าวมรณกรรมของอลิซาเบธมาก เขารู้จักครอบครัวนี้มานาน จนถือว่าเป็นเพื่อนมากกว่าคนไข้ เมื่อเพื่อนเก่าแก่ผู้มีนิสัยดีน่ารักตายลง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่นายแพทย์จะรู้สึกเศร้าสลดใจมากกว่าปกติ


      และหลังจากนั้นไม่นาน คุณหมอก็เริ่มฝัน...

      ในระยะแรกเขาฝันว่าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้สะอึกสะอื้นน่าเวทนา แล้วก็ค่อยๆเห็นรูปร่างขึ้นอย่างรางเลือนและชัดเจนขึ้น จนในที่สุดก็มั่นใจว่าเจ้าของเสียงร้องไห้นั้นคืออลิซาเบธ ลาเกอร์เฟลด์ เพื่อนเก่าที่ตายไปแล้วเกือบปีนั่นเอง

      "ผมประหลาดใจมาก ในชีวิตการเป็นหมอหลายสิบปี ผมไม่เคยฝันถึงคนไข้คนใดติดต่อกันยาวนานขนาดนี้เลย ทำให้เริ่มสงสัยว่า ทำไมจึงฝันเห็นแต่อลิซาเบธทุกคืนในลักษณะแปลกประหลาดเช่นนี้ ?"


      นายแพทย์กล่าว และในคืนต่อมานั่นเอง เขาก็ฝันเห็นอลิซาเบธมาร้องไห้อีก คราวนี้ครํ่าครวญหวนไห้อย่างน่าเวทนายิ่งกว่าทุกครั้ง คุณหมอโรเซนธัลเป็นคนทนเห็นนํ้าตาผู้หญิงไม่ค่อยได้ ยิ่งผู้หญิงในฝันร้องไห้ครํ่าครวญน่าสงสารถึงปานฉะนี้ เขาจึงตัดสินใจออกค้นหาความจริงในวันรุ่งขึ้นนั่นเอง

      นายแพทย์โรเซนธัลต้องดูแลคลินิกถึงสองแห่ง ทำให้เขาไม่มีเวลาว่างมากนัก แต่ก็อุตส่าห์เจียดเวลาไปยังสภาสังคม-สงเคราะห์ของนิวยอร์ก ขอเรื่องราวทั้งหมดของอลิซาเบธลาเกอร์เฟลด์ มาดู และนี่เอง ทำให้เขารู้สาเหตุการครํ่าครวญหวนไห้ของเธอในความฝันของเขา

      โจฮัน ลาเกอร์เฟลด์ สามีของอลิซาเบธ ถูกฝังไว้ในสุสานวู้ดลอน ซึ่งได้จ่ายค่าหลุมศพ 2 หลุม ให้ทางสุสานไว้ล่วงหน้านานแล้ว โดยตั้งใจว่าหลุมที่เหลือจะเป็นที่พักสุดท้ายของอลิซาเบธ ทว่า ตามเอกสารที่นายแพทย์ค้นดูนั้น อลิซาเบธหาได้ถูกฝังไว้เคียงข้างสามีในสุสานวู้ดลอนไม่ ทางการกลับไพล่นำเธอไปฝังไว้ที่สุสานสำหรับคนอนาถาเสียนี่ !! 


      ทำให้อลิซาเบธต้องมาโหยไห้ขอความช่วยเหลือในฝันของนายแพทย์เป็นเวลาร่วมปี

      แต่การจะช่วยเหลืออลิซาเบธให้บรรลุความประสงค์ มิใช่ ของง่าย โดยเฉพาะคนยากจนอย่างเธอ จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เพราะหลักฐานต่างๆไม่มีใครสนใจเก็บไว้ และการจะอ้างว่าพนักงานของสภาสังคมสงเคราะห์ไม่นำพาต่อความประสงค์ของผู้ตาย แล้วขอทำเรื่องนำศพไปฝังเสียใหม่นั้น ยิ่งเป็นไปได้โดยยาก เพราะไม่มีใครเก็บหลักฐานพินัยกรรมของอลิซาเบธไว้อีกแล้ว นายแพทย์ โรเซนธัล ต้องเสียเวลาวิ่งวุ่นเรื่องนี้อยู่หลายวัน จึงได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานประชาสงเคราะห์ แห่งบรอนซ์ ให้เขากรอกแบบคำร้องขอทำการฝังศพอลิซาเบธใหม่อีกครั้ง


      อะไรๆก็ทำท่าจะดีแล้วเชียว แต่ก็มีปัญหาอีกจนได้

      เป็นปัญหาสำคัญเสียด้วยซีครับ เพราะทางสุสานวู้ดลอนที่ฝังศพสามีของอลิซาเบธ คิดค่าป่วยการฝังศพใหม่นี้เป็นเงิน 350-400 เหรียญ และทางสุสานคนอนาถาก็คิดค่าขุดศพอีก 75 เหรียญด้วย เล่นเอานายแพทย์ผู้อารีถึงกับกุมขมับ คิดไม่ออกไปหลายวัน

      ในที่สุดก็หาทางออกจนได้ ทั้งๆที่ไม่อยากเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ความอยากช่วยเพื่อนเก่ามีมากมาย นายแพทย์จึงเล่าเรื่องนี้ให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ฟัง เพื่อให้ เรื่องราวของอลิซาเบธรู้ไปถึงเพื่อนฝูงของเธอที่ยังหลงเหลืออยู่ จะได้ช่วยกันบริจาคเงินคนละเล็กละน้อย ขุดศพเธอไปฝังเคียงข้างสามีตามที่ต้องการ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์แพร่ข่าวออกไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1961


      แต่เจ้ากรรม ! นักข่าวลืมบอกวัตถุประสงค์ ขอบริจาคเงินเสียสนิท เรื่องนี้จึงแพร่ออกไปในลักษณะข่าวย่อยชิ้นเล็กๆเท่านั้นเอง

      ทว่า ผลของข่าว ก็พอมีอยู่เหมือนกัน นักข่าวตาแหลมคนหนึ่งชื่อ วินเซนต์ ออสติน เกิดไปรู้ว่าเงินค่าทำศพจากกรมธรรม์ประกันชีวิตของอลิซาเบธ จำนวน 171.10 เหรียญ ยังคงเก็บไว้ที่สภาสังคมสงเคราะห์ ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะเงินจำนวนนี้ ไม่เพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายจัดงานศพยาม อลิซาเบธสิ้นชีวิตใหม่ๆได้ และอลิซาเบธก็ไม่มีญาติใกล้ชิดที่ไหนอีกแล้ว ทางสภาฯจึงตัดสินใจทำพิธีศพแบบคนอนาถา ให้รู้แล้วรู้รอดไป โดยยังเก็บเงินจำนวนนั้นไว้อยู่


      และเงินนี้เองแหละครับที่ได้ใช้ทำพิธีฝังศพอลิซาเบธอีกครั้งหนึ่ง ให้ไปอยู่เคียงข้างสามีในสุสานวู้ดลอนได้สมความตั้งใจ

      นอกจากนี้ ทางการยังอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยยอมยกเลิกค่าขุดศพ 75 เหรียญจากสุสานคนอนาถาเสีย...ด้วยเหตุนี้ นายแพทย์ โรเซนธัล จึงช่วยให้อลิซาเบธ ลาเกอร์เฟลด์ ได้ สมประสงค์เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต


      และเป็นการช่วยตัวคุณหมอด้วยครับ เพราะนับตั้งแต่วันที่อลิซาเบธได้ไปนอนเคียงข้างสามี ในสุสานวู้ดลอนแล้ว เสียงสะอื้นรํ่าไห้ในฝันของคุณหมอก็อันตรธานไปเป็นปลิดทิ้ง ทำให้คุณหมอกินได้ นอนหลับสบาย นับตั้งแต่นั้นมา.


      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×